คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2555) อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ และ โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า
คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 เป็นธิดาของหลวงประสิทธิ์นรกรรม (เจี่ยน หงสประภาส) และนางเหรียญทอง หงสประภาส สมรสกับพลเรือโท นายแพทย์โกเมท เครือตราชู อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ มีบุตร 2 คน คือ ศาสตราจารย์ ดร.มาลียา เครือตราชู และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์จุฑาเกียรติ เครือตราชู
คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดเชิงเลน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และย้ายไปศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาได้รับทุนจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาศึกษาวิชาสามัญและวิชาครูที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสอบได้ประโยคครูมูล (ป.) จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 และสอบได้ประโยคครูประถม (ป.ป)
คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับทุนศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จปริญญาตรีอักษรศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2481 และประกาศนียบัตรวิชาครูมัธยม (ป.ม.) ในปี พ.ศ. 2482 หลังเข้ารับราชการยังได้รับทุนคุรุสภาไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโททางการศึกษา (M.A.) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2498
เมื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2481 คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูเป็นนิสิตแผนกฝึกหัดครูมัธยม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและได้ฝึกสอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย หลังสำเร็จการศึกษา ด้วยมีคุณวุฒิสูงเกินกว่าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะรับบรรจุไว้ จึงได้เข้ารับราชการครูที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2482 ตำแหน่งอาจารย์ผู้ช่วยโท สอนวิชาภาษาไทย
หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2485 คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับคำสั่งให้ไปดูแลงานทะเบียนและเป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้ปกครองฝ่ายสตรี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้รับคำสั่งให้ไปช่วยงานที่สาขาเพชรบูรณ์ และช่วยราชการกรมวิสามัญศึกษา รับผิดชอบงานทะเบียนครูทั่วประเทศ
ในปี พ.ศ. 2490 คุณหญิงบุญเลื่อนกลับมาประจำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถเปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนครูทั่วประเทศ ด้วยเหตุที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีอาจารย์ซึ่งมีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งแผนกฝึกหัดครูมัธยมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ฝ.ค.ต.อ.) ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยคุณหญิงบุญเลือนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการจัดการฝึกหัดครูมัธยมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และในปี พ.ศ. 2506 ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนถึงปี พ.ศ. พ.ศ. 2507 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการชั้นพิเศษโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นผู้อำนวยการคนที่ 4 ของโรงเรียนและเป็นผู้อำนวยการหญิงคนแรกของโรงเรียน
ตลอดระยะเวลาที่คุณหญิงบุญเลื่อนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้พัฒนาโรงเรียนในทุกด้าน เช่น ด้านอาคารสถานที่ มีการก่อสร้างตึกคุณหญิงหรั่ง กันตารัติ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ของโรงเรียน ด้านการปกครอง มีคำพูดอบรมนักเรียนที่เป็นตำนานตราบทุกวันนี้คือ "นักเรียนเตรียมฯ มองข้างหลังก็รู้ว่าเป็นนักเรียนเตรียมฯ" ด้านวิชาการ มีการบริหารจัดการให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นแบบฉบับแก่โรงเรียนอื่นๆ เช่น ช่วยนิเทศการสอน ช่วยอบรมครูบรรจุใหม่ และได้ขยายเครือข่ายของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยจัดตั้งโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ๒ (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในปัจจุบัน) รวมถึงริเริ่มก่อตั้งสมาคมผู้ปกครองและครูเตรียมอุดมศึกษา สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา และมูลนิธินักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2514 ยังได้ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาของกรมสามัญศึกษาก่อตั้งสมาคมครูใหญ่โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ในปัจจุบัน) โดยเป็นนายกสมาคมคนแรก และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516
ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้จัดให้คุณหญิงบุญเลื่อนเป็นทายาทในหน้าที่การงานของท่าน ดังที่เขียนในคำไว้อาลัยหลวงประสิทธิ์นรกรรมว่า "การฝากบุตรีเข้าทำงานเป็นการขอร้องก็จริง แต่ขอร้องชนิดที่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการเป็นอันมาก เท่ากับว่ายกลูกสาวของท่านให้เป็นทายาทของข้าพเจ้าในหน้าที่การงานที่สถาบันการศึกษาอันมีชื่อแห่งนั้น"
ในปี พ.ศ. 2518 คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ผู้ตรวจการลูกเสือกรมสามัญศึกษา และผู้ตรวจการใหญ่เนตรนารี ซึ่งได้เสนอให้คณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติยอมรับกิจการเนตรนารีเป็นส่วนหนึ่งของลูกเสือ ภายหลังได้มีการวางหลักสูตรเนตรนารีให้เป็นวิชาเลือกเช่นเดียวกับลูกเสือและอนุกาชาด ในปีเดียวกันนี้ยังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสตรีผู้นำอาเซียนในการประชุมความร่วมมือของสตรีในการพัฒนาประเทศและการใช้แรงงานสตรี ณ ประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา เป็นอธิบดีหญิงคนแรกของกรมสามัญศึกษา บริหารการศึกษาของโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนศึกษาพิเศษ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ของรัฐบาลทั่วประเทศ ประมาณ 2,000 โรง จนเกษียณอายุเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยระหว่างที่เป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้มีผู้บริจาคที่ดินให้จัดตั้งโรงเรียนหลายโรง เช่น โรงเรียนเทพศิรินทร์ 2 โรงเรียนศึกษานารี 2 โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2 โรงเรียนบึงทองหลางพิทยา เป็นต้น
นอกเหนือจากการรับราชการ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูยังได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวมอีกมากมาย อาทิ เป็นอาสากาชาด สงครามมหาเอเชียบูรพา (อินโดจีน) ได้รับพระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน ก่อตั้งมูลนิธินักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ก่อตั้งมูลนิธิเฉลิมศาสน์ศึกษา ก่อตั้งมูลนิธิคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชูไว้ที่กรมสามัญศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2521 ร่วมกับคุณหญิงสิวลี ชลวิจารณ์ก่อตั้งมูลนิธิกฤตานุสรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2523 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ ก่อตั้งชมรมข้าราชการครูอาวุโสของกรมสามัญศึกษา เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ปรึกษาสมาคมผู้ปกครองและครูเตรียมอุดมศึกษา ที่ปรึกษาสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น
คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ บ้านซอยอารีย์สัมพันธ์ สิริอายุได้ 95 ปี